ทำไมต้องทำเว็บไซต์ แล้วมีไว้เพื่ออะไร

ทำไมต้องมีเว็บไซต์?

ในโลกที่ Social Media เฟื่องฟู หรือการเอาของไปขายตาม Ecommerce Platform นั้นสามารถทำได้ง่ายดาย คน/บริษัทเริ่มให้ความสำคัญกับการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองน้อยลง

หลายๆ คน หลายๆ บริษัทคิดว่า พวกเขาจะอยู่บน Platform ไหนก็ได้ ขอแค่ให้มี Reach เยอะๆ ขายของได้มากๆ ก็เพียงพอแล้ว

ใจนึงผมก็คิดแบบนั้นเหมือนกันครับ แต่อีกใจนึง… ผมก็ไม่กล้าเสี่ยง

เสี่ยงกับการยืมจมูกคนอื่นหายใจ

เสี่ยงกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

เสี่ยงกับการฝากชีวิต และฝากธุรกิจไว้กับคนอื่น

เขียนไปเขียนมา เริ่มมองโลกในแง่ร้ายขึ้นเรื่อยๆ ฮ่าๆ เอาเป็นว่า ในบทความนี้ผมจะพยายามไม่เขียนถึงข้อเสียของการไม่มีเว็บไซต์นะ กลับกัน ผมจะเขียนถึงข้อดีของการมีเว็บไซต์ รับรองว่าพอคุณอ่านบทความนี้จบ คุณจะต้องหันมาฉุกคิดถึงความเจ๋งของการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองอย่างแน่นอน

1. มีเว็บไซต์เพื่อทำให้ลูกค้า “ค้นหา” คุณเจอบนโลกออนไลน์

การที่คุณมีเว็บไซต์จะทำให้คุณเตะตาพี่ใหญ่บิ๊กเบิ้มอย่าง Google ซึ่ง Traffic ที่มาจาก Google นั้น
เมื่อเทียบกับ Traffic ช่องทางอื่นๆ แล้ว จัดเป็น Traffic ชั้นดี
ทำไมถึงเรียกว่า Traffic ชั้นดี?
ลองคิดดูว่าคนใช้ Google กันเพื่ออะไร?
ใช่แล้วครับ คนใช้ Google เพื่อค้นหาในสิ่งที่ต้องการ การที่คนค้นหาบน Google แล้วเจอเว็บไซต์ของคุณ จากนั้นก็คลิ๊กเข้ามา มันเป็นตัวบ่งบอกว่า 1. เขามีความต้องการจริงๆ 2. เว็บไซต์ของคุณน่าดึงดูดเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของเขาได้

ถ้าคุณขาย หรือทำธุรกิจผ่านโซเชียลมีเดีย, ขายผ่าน Platform อื่นๆ หรือขายบนโลกออฟไลน์อยู่แล้ว ลองหันมาทำเว็บไซต์เพื่อตอบโจทย์ Search Engine อย่าง Google ดูนะครับ เพราะการที่ลูกค้าเข้ามาเจอคุณผ่านการ “ค้นหา” นั้น มันเป็นช่องทางที่ทรงพลังที่สุดช่องทางหนึ่งเลยล่ะ

2. เว็บไซต์จำเป็นเพราะ…ไม่มีที่ใดสุขใจเท่าบ้านเรา

คุณเคยเช่าคอนโด นอนโรงแรม หรืออาศัยบ้านเพื่อนอยู่ไหมครับ?

ผมคิดว่าทุกคนน่าจะตอบว่าเคยแน่ๆ ซึ่งสถานที่เหล่านั้นอาจจะให้ความสนุก และความสุขได้ในระยะเวลานึง แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้ว ไม่มีที่ไหนทำให้คุณสุขใจได้กับบ้านอันแสนอบอุ่นของคุณ

การมีเว็บไซต์ก็เหมือนกับการมีบ้าน ที่คุณจะสามารถตกแต่ง ย้ายของโน่นนี่ หรือระบายสียังไงก็ได้ตามที่คุณอยากให้มันเป็น

คุณจะใส่ข้อมูลอะไรไว้ใน “หน้าแรก” ของคุณก็ตามแต่ใจ, คุณจะแบ่งหมวดหมู่ “บล็อก” ของคุณเป็นกี่แบบก็ได้ไม่จำกัด หรือคุณจะเลือกเก็บเงินบน “ร้านค้า” ของคุณด้วยวิธีไหนก็ได้

3. เว็บไซต์สร้างความน่าเชื่อถือ

การทำเว็บไซต์ต้องอาศัยพลังงานมากกว่าการขายบนแพลตฟอร์มอื่นๆ หรือการสร้างแอคเคาท์บนโซเชียลมีเดียพอสมควร ถ้าจะให้เปรียบเทียบกับโลกออฟไลน์นั้นก็เหมือนกับการที่คุณสร้างร้านเอง กับคุณไปฝากของขายตาม Super Market หรือตามห้าง

การสร้างร้านของตัวเองนั้นมีความยุ่งยากกว่ามาก แต่ถ้าคุณมีหน้าร้าน มันก็เป็นตัวบ่งบอกถึงความพร้อมที่จะบริการ และความเป็นมืออาชีพของคุณ ลองสังเกตดูว่าแบรนด์ส่วนใหญ่ที่มีชื่อเสียงแล้วต่างก็มีเว็บไซต์ด้วยกันท้ังนั้น

ระหว่างมีเว็บ กับไม่มีเว็บ ผมคิดว่าความน่าเชื่อถือบนโลกออนไลน์มันคนละระดับกันเลย

4. การเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่นๆ

การมีเว็บไซต์นั้นจะทำให้คุณเชื่อมต่อกับแพล็ตฟอร์มอื่นๆ ได้เป็นหมื่นๆ แพล็ตฟอร์ม ซึ่งถ้าคุณสามารถสร้างการเชื่อมต่อได้เชี่ยวชาญแล้ว ในบางขั้นตอน คุณสามารถที่จะทำระบบของคุณให้เป็นระบบอัตโนมัติ (Automate) ได้

มองในแง่ Inbound Marketing คือการทำ Marketing Automation หรือ Sales Automation นั่นเอง เช่นคุณสามารถตั้งค่าไว้ได้ว่า เมื่อคนที่ติดตามคุณด้วยอีเมลนั้นเข้าไปในหน้า Sales Page (หน้าขายของของคุณ) แล้วไม่ซื้อ ระบบจะส่งอีเมลแบบอัตโนมัติเพื่อ Follow Up ติดตามผลหลังจากที่เขาเข้าไปหน้า Sales Page ของคุณ 1 วัน เป็นต้น

สรุป

เว็บไซต์นั้นเป็นสิ่งที่เกิดมากว่า 20 ปีแล้ว

ด้วยการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ใครก็ตามที่ยังคงอยู่แต่บนโลกออฟไลน์ จะมีความยากลำบากในการทำธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเจอสิ่งที่ดีกว่า เร็วกว่า เจ๋งกว่า มาแข่งขันด้วย

สำหรับการทำธุรกิจบนโซเชียลมีเดีย ผมเองนั้นมีความเชื่อที่ว่า วัตถุถึงที่สุดแล้วต้องมีการเปลี่ยนพลิก ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมานี้เป็นยุคสมัยแห่งโซเชียลมีเดียอย่างแท้จริง แต่ช่องทางบนโลกโซเชียลมีเดียนั้นจะมีคนเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ และโมเดลธุรกิจแบบ Advertising นั้นมีข้อจำกัดด้านปริมาณในการนำเสนออยู่ (โซเชียลมีเดียไม่อาจจะปล่อยให้มีโฆษณามากเกินไป เพราะถ้ามากเกินไป คนก็จะไม่อยากใช้งานนั่นเอง) และเมื่อไหร่ก็ตามที่ demand มากกว่า supply มากๆ ราคามันก็จะแพงขึ้นเรื่อยๆ และคนก็จะเริ่มหาทางเลือกอื่น

เช่นเดียวกับการไปฝากขายในแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ที่คุณต้องทำตามกฏระเบียบที่ทางแพลตฟอร์มกำหนดขึ้นมา

การใช้เว็บไซต์ซึ่งผมมองว่าเป็น สินทรัพย์บนโลกดิจิทัล ควบคู่ไปกับการใช้ช่องทางอื่นๆ อย่างโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มอื่นๆ น่าจะเป็นการผสมผสานที่ดี และยั่งยืนในระยะยาวครับ